เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 67 ที่ห้องประชุม5209 อาคารสัมมนา1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย (สคบท) ครั้งที่ 4/2567 การประชุมมี ผศ.ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุม มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ปัญญาประดิษฐ์ กับ จริยธรรมการวิจัย AI and Ethics” โดย รศ.ดร.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อน ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ชูพันธ์ อรรถพลพิพัฒน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ประธานสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุม การประชุมมีสถาบันการศึกษาร่วมประชุม 51 สถาบัน รวมผู้เข้าประชุมทั้งแบบเผชิญหน้าและออนไลน์กว่า 90 คน
การประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเกิดจากการริเริ่มของคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยที่มีความเห็นพ้องกันว่า การจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีปัญหาร่วมกันหลายประการ ฉะนั้นควรจะมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือกันในเรื่องการจัดการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้มีการประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีแรก ๆ นั้นมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นผู้จัด และได้ดำเนินการประชุมต่อไปจนกระทั่งมีมหาวิทยาลัยเอกชนเข้าร่วมการประชุม จึงได้มีการสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่างสถาบันของรัฐและสถาบันเอกชน
ต่อมาในการประชุมสามัญคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2538 ณ จังหวัดพิษณุโลก ที่ประชุมเห็นว่าได้มีการจัดประชุมโดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเช่นนี้มานานแล้ว ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของที่ประชุม ตลอดจนนำมติของที่ประชุมไปดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป จึงได้ริเริ่มให้มีการตั้งสำนักงานของที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและที่เกี่ยวข้องไปสู่ความเป็นเลิศ
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน
3. เพื่อสร้างและกระชับความสามัคคีระหว่างสถาบันให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 1/2539 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประชุมฯ ได้รับรองระเบียบที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและระเบียบสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และเมื่อมีการประชุมสามัญคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น สถาบันเจ้าภาพจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ต่อมาในการประชุมสามัญครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงองค์กรใหม่ให้มีความกระทัดรัดขึ้นโดยรวมองค์กรที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยและสำนักงานเลขาธิการที่ประชุมคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเข้าเป็นองค์กรเดียวกันและเปลี่ยนชื่อเป็น “สภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สคบท.)” โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายบริหารงานประจำสภาฯ มีการรับรองธรรมนูญสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (สคบท.) พ.ศ. 2544 และมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ดังนี้
1. เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
2. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและเป็นศูนย์กลางการประสานงานความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. เพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และรับฟังความคิดเห็นในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างสถาบันให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ในการประชุมสามัญประจำปีสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 เห็นว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งได้ออกนอกระบบทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมหาวิทยาลัย มีผลกระทบต่อสถานภาพของบัณฑิตวิทยาลัยและมีหลายสถาบันที่ตำแหน่งผู้รับผิดชอบดูแลบัณฑิตวิทยาลัยมิใช่คณบดี ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารบัณฑิตศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย (สคบท.)”
ภาพ : หน่วยถ่ายภาพ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มสธ.