การประชุม OU5 2567 ณ ยอกยาการ์ตา : ยกระดับการศึกษาระบบเปิดและการศึกษาทางไกลระดับอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ รักษาการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย นางรัตน์ทิพย์ ผูกเกษร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานวิเทศสัมพันธ์ และ นักวิจัยจำนวน 5 ท่าน ประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ เจือศิริภักดี ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ ดร.สังวรณ์ งัดกระโทก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิเรก วัชรพัฒนกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิช นาคแป้น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ อาจารย์ ดร.ชลรัศมิ์ สุริยารังสรรค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม OU5 ในหัวข้อ Advancing Open and Distance Higher Education in Southeast Asia ณ ยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 – 26 เมษายน 2567 โดย Universitas Terbuka (UT) เป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้
สถาบันสมาชิก OU5 ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเปิดชั้นนำในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- Universitas Terbuka (UT) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
- Open University Malaysia (OUM) ประเทศมาเลเซีย
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ประเทศไทย
- University of the Philippines Open University (UPOU) ฟิลิปปินส์ฟิลิปปินส์
- Hanoi Open University (HOU) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ความมุ่งมั่นก้าวเข้าสู่ความเป็นเลิศร่วมกัน
กลุ่มมหาวิทยาลัย OU5 นับเป็นเครือข่ายในการเสริมสร้างความร่วมมือและการแบ่งปันความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก โดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยและงานวิจัยด้านอาเซียนศึกษา การประชุมประจำปีในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การหารือในเชิงกลยุทธ์และนำเสนอนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบการศึกษาทางไกลและการศึกษาระบบเปิดในภูมิภาค
การประชุม OU5 เน้นย้ำจุดยืนในการสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก ในการดำเนินการบริการสังคมระดับนานาชาติร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อประชาคมโลกและส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม การประชุม OU5 เพิ่มโอกาสในการแบ่งปันความรู้ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทาลัยเปิดที่มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทางไกลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศร่วมกัน และการให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาทางไกลและการศึกษาระบบเปิดในอาเซียน
การประชุมครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2567 เพื่อประชุมร่วมกันใน 5 หัวข้อ ดังนี้
- Inclusive Education: Providing Quality Education for All
- Artificial intelligence (AI) in digital education
- Promoting Sustainable Industrialisation (SDG 9) in ASEAN Region
- Counseling Services at OU5 to Promote Good Mental Health in ASEAN
- Preserving ASEAN Culture in Digital Age
ภาพและข่าว : สถานวิเทศสัมพันธ์ มสธ.