มสธ. จับมือ เจียไต๋ “เปลี่ยนของเสียภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

มสธ. จับมือ เจียไต๋ “เปลี่ยนของเสียภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ผู้บริหาร มสธ. กับ ผู้บริหารบริษัทเจียไต๋ กับผลิตภัณฑ์จากของเสียภาคอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จับมือร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับบริษัทเจียไต๋ จำกัด ในเรื่อง“การเปลี่ยนของเสียภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ความรู้ทางวิชาการเพื่อนำของเสียภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ บริษัทเจียไต๋ จำกัด

มสธ. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทเจียไต๋ จำกัด

ณ ห้อง Auditorium 1 – 2 สำนักงานใหญ่ บริษัทเจียไต๋ จำกัด นายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับและกล่าวถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการ “การเปลี่ยนของเสียภาคอุตสาหกรรมมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งทางบริษัทเจียไต๋ จำกัดเองได้มีสิ่งของเหลือใช้ จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการส่งเสริมการจัดการขยะหรือของเหลือใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเกิดประโยชน์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็มีคณาจารย์ที่มีความรู้ สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ที่สามารถต่อยอดสู่ชุมชนที่ยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

วันนี้ 21 มีนาคม 2567 จึงมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง บริษัท เจียไต๋ จำกัด กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีนายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัทเจียไต๋ จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์
กรรมการสภามหาวิทยาลัยรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายมนัส เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจียไต๋ จำกัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวขอบคุณและกล่าวถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กับบริษัทเจียไต๋ จำกัด ในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มียุทธศาสตร์ทางด้านการตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติให้เข้มแข็งก่อให้เกิดความยั่งยืน โดยที่มหาวิทยาลัยจะนำ“ความรู้ทางวิชาการเพื่อนำของเสียภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” ต่อไป ซึ่งมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ที่หลากหลายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยสาขาวิชาฯ ที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่พัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเข้ารับจัดอันดับ UI Green Metric หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดการของเสียและการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตกับการทำงานอย่างมีความสุข (Happy Workplace) มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเสียภาคอุตสาหกรรม
ผลิตภัณฑ์จากของเสียภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีโครงการวิจัยและโครงการบริการวิชาการแก่สังคมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อเนื่องทุกปี เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อาทิ โครงการวิจัย เรื่อง การยกระดับผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากของเหลือใช้ทางการเกษตรเชิงธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ และวิสาหกิจชุมชนบ้านสารภี จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่นที่ถูกทิ้งเป็นขยะจนได้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพได้รับรองมาตรฐาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนเป็นชุมชนต้นแบบ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และจากโครงการวิจัยดังกล่าว จึงได้รับการต่อยอดสู่การดำเนินงานโครงการบริการวิชาการแก่สังคมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสงคราม ในชื่อโครงการจัดการขยะต้นทางอย่างเป็นระบบและเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จังหวัดสมุทรสงคราม ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งได้รับความสนใจและการเข้าร่วมโครงการจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ใน 3 อำเภอของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ เมืองสมุทรสงคราม บางคนที และอัมพวา

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะร่วมมือกับบริษัท เจียไต๋ จำกัด ในการดำเนินโครงการพัฒนาทางสถาบันอุดมศึกษา กับภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเอกชน และภาคประชาชนหรือชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป

ปริมาณของเสียภาคอุตสาหกรรม

วัตถุประสงค์

เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของทุกภาคส่วน และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเอกชน และภาคประชาชนหรือชุมชน โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการจัดการขยะหรือของเหลือใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ที่สามารถต่อยอดสู่ชุมชนที่ยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs แบบมีส่วนร่วม และเป็นการทำงานร่วมกันที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 ในหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

บทความโดย

ข่าวที่น่าสนใจ

นอกรั้วเขียวทอง-ก.พ
Blue Ocean Themed Wide Presentation
News cover (2)