สุขด้วยธรรมวันมาฆบูชา “ทำดี ละชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส”
รับฟังเสียง
หลากหลายเรื่องราวที่นำเสนอใน มสธ. เปิดวาร์ปความสุข ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเราเอง ที่ทำให้ทุกท่านสามารถพบความสุขได้ใกล้ๆตัว วันนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ขอนำเสนอความสุขที่เราสามารถสร้างได้ โดยใช้สติ มีสมาธิ คิดถึงและพิจารณาในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานไว้เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาในวันมาฆบูชาเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลที่พระองค์ยังทรงมีพระชนมพรรษา นั้นคือ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
วันนี้ มสธ.เปิดวาร์ปความสุข ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเราเองจึงขอนำบทความเกี่ยวกับวันมาฆบูชา จากเว็บไชต์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาฝากทุกท่านครับ
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง
ความหมายของคำว่า “มาฆะ” นั้น ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะหรือเดือน 3 ตามปฏิทินของชาวอินเดีย สำหรับการกำหนดวันมาฆบูชาของไทยตามปฏิทินจันทรคติจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ส่วนใหญ่แล้ววันมาฆบูชามักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”
ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ ได้แก่
1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต”
สำหรับหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติในวันมาฆบูชา ก็คือ “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 โดยหลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการ ที่เป็นความชั่วทางกาย (1.ฆ่าสัตว์ 2.ลักทรัพย์ 3.ประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (1.พูดเท็จ 2.พูดส่อเสียด 3.พูดจาหยาบ 4.พูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (1.โลภอยากได้ของเขา 2.พยาบาทปองร้ายเขา 3. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด จากทำนองคลองธรรม)
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย
ซึ่งทั้ง 3 หลักการสรุปใจความสำคัญได้ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” นั่นเอง
และนี้คือ มสธ.เปิดวาร์ปความสุข ความสุขสร้างได้ด้วยตัวเราเอง ในวันนี้ซึ่งหมดเวลาลงแล้วครับ ครั้งหน้าเรากลับมาสร้างความสุขในหลากหลายเรื่องราวกันใหม่ วันนี้ลาไปก่อนสวัสดีครับ