สร้างสุขด้วยสมาธิ

สร้างสุขด้วยสมาธิ

รับฟังเสียง

สมาธิเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างควาสุขให้ตัวเราเองได้เป็นอย่างดี เพราะหลายๆเรื่อง หลายๆอย่าง ที่อยู่ภายนอกรอบตัวเรา เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ แต่สมาธินั้นอยู่กับตัวเราเอง ถ้าเราหมั่นฝึกเพื่อสร้างความสงบ ในจิตใจ ความสุขก็สามารถที่จะเกิดแก่เราได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ

ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหนีจากเรื่องตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน สภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น รถติดที่ต้องพบเจอทุกเช้าเย็น หนี้สิน ข้าวของแพง หรืออีกร้อยแปดพันอย่างที่ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือเรื่องแย่ๆให้อยู่ภายในจิตใจ แต่สมาธิเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นทางออกหรือวิธีบำบัดได้ การฝึกจิตสร้างสมาธิจะช่วยนำไปสู่ความสงบ เมื่อเกิดความสงบในจิตใจ ความคิดดีๆ จิตดีๆ ก็จะทำให้เราเกิดความสุข สงบตามมาได้

แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จักขั้นตอนวิธีการฝึกสมาธินั้น มาทำความเข้าใจกับสมาธิกันก่อนดีกว่า

สมาธิ ถ้าจะอธิบายง่ายๆก็คือ ความสงบ สบาย มีสติ และความรู้สึกเป็นสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้วมีความสุขกับตรงนั้น แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่รู้สึกแบบนี้ ยังต้องตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น เคร่งเครียด กังวล ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะมันจะเป็นความทุกข์ใจที่จะอยู่กับเราต่อไปอย่างไม่จบไม่สิ้นได้

การเริ่มฝึกสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ควรเริ่มจากการนั่งสมาธิ 

หลักการเริ่มต้นทำสมาธิง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยในระยะแรกควรฝึกนั่งเพียง 10 – 15 นาที ก็เพียงพอ นั่งขัดตะหมาด พยายามตั้งหลังให้ตรงแต่อยู่ในท่วงท่าที่สบาย  จากนั้นค่อยๆปล่อยวางความคิดนึก ปล่อยวางเรื่องราวต่างๆให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึกอยู่ที่ร่างกาย ให้รู้สึกว่าตอนนี้ตัวเราว่าขณะนี้นั่งอยู่อย่างไร

นึกรู้ นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าเรานั่งขาขวาทับซ้าย ก็รู้ว่าเรานั่งขาขวาทับซ้าย , เรานั่งหลับตา ก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา

น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรา ว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะ ตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบตัวเอง แล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า

นึกถึงภาพให้เห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปาก เห็นคาง เห็นปลายจมูก เห็นรู้ ลมหายใจเข้า-ออก

กำหนดความรู้สึกอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจ ออกนึกว่า “โธ” จนรู้อยู่แต่ “พุท-โธ” ทุกลมหายใจเข้า-ออก และร่างกายก็จะเข้าสู่คำว่า “กายสงบ ใจสงบ”

ในช่วงนี้หากคำภาวนา “พุท-โธ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออกเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เมื่อคำ “พุท-โธ” หยุดรำลึกไปเองโดยธรรมชาติ ก็อย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นอีก

เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระ เป็นสุข และเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเอง สัมผัสได้ ด้วยจิตเอง ตอนนี้แหละครับคือความสุขจากสมาธินั่นเอง

ส่วนวิธีการออกจากสมาธิก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันนะครับ ต้องค่อยๆละ และค่อยๆ ออก ก่อนจะเลิกนั่งและออกจากสมาธิ ให้มาพิจารณากายใจของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือปลายผม สุดเบื้องล่างคือปลายเท้า และจากเบื้องล่างคือปลายเท้า ให้ถึงเบื้องบนคือปลายผม พิจารณารู้รอบตัวเอง ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมด้วยการจะออกจากสมาธิ ให้จิตของเราพิจารณารูปตัวเองทั้งกายภายนอกภายใน  รู้ทั่วพร้อมแล้วค่อยๆ เคลื่อนมือขวามาวางที่หัวเข่าด้านขวา เคลื่อนมือซ้ายมาวางที่หัวเข่าด้านซ้าย แล้วค่อยๆ ยกมือขวาขึ้นมาระหว่างอก จากนั้นยกมือซ้ายตามขึ้นมาพนมมือ แล้วค่อยๆ ลืมตา แล้วก็ค่อยๆ ออกจากท่วงท่าที่นั่งสมาธิได้

ด้วยความอดทนของคนเราอาจจะมีระยะจำกัดในระยะแรกเพียงแค่ 10 นาที  แต่นั่นก็เพียงพอต่อการนั่งสมาธิพยายามอย่าฝืนตัวเองมากไป เพราะอาจจะกลายเป็นนอกจากจะไม่ได้สมาธิแล้ว ยังจะทำให้รู้สึกเบื่อ และไม่อยากกลับมานั่งสมาธิอีกเลยก็เป็นได้…

เอาล่ะ เมื่อรู้ถึงวิธีและประโยชน์จากการนั่งสมาธิเพื่อรับมือกับความทุกข์แล้ว ก็ลองฝึกเพื่อให้ความสุขเกิดได้ในใจของพวกเราทุกคนอยู่อย่างสม่ำเสมอนะครับ  แล้วครั้งหน้ากลับมาพบกับช่วง มสธ. เปิดวาร์ปความสุขได้ใหม่ วันนี้ลาไปก่อนสวัสดีครับ

บทความโดย

ข่าวที่น่าสนใจ

uytt9987
Blue Ocean Themed Wide Presentation
สัมมนานักษาใหม่